คมชัดลึก : กีฬา

Tuesday, May 8, 2007

ทริปจักรยาน @ กรุงเทพฯ - นครสวรรค์ - กรุงเทพฯ


13-15 เมษายน 2550
ทริปจักรยาน @ กรุงเทพฯ - นครสวรรค์ - กรุงเทพฯ

วันหยุดสงกรานต์ อากาศร้อน ไปปั่นจักรยานไกล ๆ ให้ร้อนกันให้หายเบื่อไปเลยดีกว่า

ว่าแล้วก็ปั่นจักรยานไปหัวลำโพง หารถไฟพาจักรยานไปเที่ยว แล้วค่อยให้จักรยานพาเที่ยวตอนขากลับก็แล้วกัน ผิดแผนเล็กน้อย จากตั้งใจทัวร์ภาคตะวันออก ต้องเปลี่ยนไปทัวร์ภาคกลางแทน


รถไฟสายกรุงเทพฯ-เด่นชัย ก็พาเราไป โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่นครสวรรค์ วันหยุดเทศกาลแบบนี้ อย่าว่าแต่ที่นั่งเลย ที่ยืนยังแทบหาไม่ได้ ผู้คนล้นหลามไปถึงทางเดินและบันได มีอุบัติเหตุผู้โดยสารพลัดตกลงไปเกือบเอาชีวิตไปทิ้งแถวรางรถไฟซะแล้ว โชคดีที่พนักงานห้ามล้อมองเห็น จึงจอดรถไฟถอยกลับไปรับ และส่งโรงพยาบาลที่สถานีต่อไปได้ทันเวลา

จุดหมายปลายทางคือสถานีรถไฟนครสวรรค์ เยี่ยมเยียนเพื่อนฝูงและรับประทานอาหารกลางวันฟรี 1 มื้อ หลังจากนั้นก็ไปนอนคอยระหว่างที่ท่านประธานไปใช้บริการนวดแผนโบราณขนานแท้ และเข้าที่พักนอนต่ออีก 2 ยก โดยมีพักอาบน้ำระหว่างยก จบยกที่ 2 ตอน 7 โมงเช้าวันรุ่งขึ้น


การเดินทางจากนครสวรรค์โดยทางหลวงหมายเลข A2 หรือที่รู้จักกันในชื่อ สายเอเชีย ทำให้ต้องเปลี่ยนยางในถึง 2 ครั้ง และเล่นสนุกกับเนินเตี้ย ๆ ขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่หลายเนิน ก่อนที่เลี้ยวขวาแยกเข้าจังหวัดชัยนาท แวะพักที่สวนนกชัยนาท แต่ไม่ได้เข้าไปเยี่ยมชมบริเวณสวนนกภายในด้วยระยะทางยังอีกยาวไกล

จากสวนนกชัยนาท ใช้เส้นทางอ้อมเล็กน้อย แต่ได้บรรยากาศที่ดีกว่าบนถนนสายรอง ท่ามกลางอากาศที่ร้อนสุด ๆ ของเดือนเมษายน ก็ยังเย็นด้วยน้ำใจของผู้คนที่ไม่สาดน้ำให้เปียกเมื่อโบกมือขอร้องไม่ให้สาดน้ำ ไม่อย่างนั้นคงแย่กว่าที่เป็นอยู่แน่ หากจะต้องปั่นจักรยานฝ่าอากาศร้อนต่ออีกหลายชั่วโมงในชุดที่เปียกโชก

แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเขื่อนที่มีชื่อเดียวกันนั้น แห้งจนบางช่วงมองเห็นดินดอนก้นแม่น้ำ มีเด็ก ๆ ลงไปเล่นน้ำกันอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน นกกินปลาก็โบยบินเวียนว่อนคอยฉกฉวยอาหารจากสายน้ำแห่งชีวิตสายนี้...อำเภออินทร์บุรีเป็นจุดหมายต่อไปของการเดินทาง การพบปะเยี่ยมเยียนเพื่อนฝูงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ การพูดคุยกับคนที่ถูกคอนั้น ก็เป็นสิ่งที่ทำให้มื้ออาหารมีรสชาติในบรรยากาศแห่งมิตรภาพมากกว่ารสชาติอันแท้จริงของอาหารในจาน

ร่องรอยของอุทกภัยเมื่อปีที่ผ่านมายังคงปรากฎอยู่ตามอาคารบ้านเรือนในอำเภออินทร์บุรีนี้ ไม่น่าเชื่อว่าวันนี้ระดับน้ำลดลงจนกลายเป็นชายหาดน้ำจืดเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้กับประชาชนในท้องถิ่นและจากบริเวณใกล้เคียง...ไม่น่าเชื่อว่าอีกไม่กี่เดือนจากนี้ไป ระดับน้ำอาจจะสูงขึ้นจนท่วมท้นตลิ่ง และสูงเลยขึ้นมาจนท้วมท้นขอบประตูร้านค้าที่เรากำลังนั่งกันอยู่นี้อีกก็ได้

การเดินทางของวันที่สองนี้ สิ้นสุดลงที่ใจกลางเมืองสิงห์บุรี รวมระยะทาง 135 กิโลเมตรบนหลังอาน


จากสิงห์บุรีผ่านอำเภอพรหมบุรีเพื่อเข้าสู่จังหวัดอ่างทอง ระหว่างเส้นทาง วัดไชโยวรวิหารเป็นสถานที่สำคัญที่ควรเข้าชมอย่างยิ่ง เพื่อนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ และได้พักผ่อนกับความร่มเย็นของพระอารามหลวงควบคู่กับการคลายร้อนจากทัศนียภาพริมแม่น้ำเจ้าพระยา

การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทันทีทันใดเมื่อเข้าสู่บริเวณตัวเมืองอยุธยา สงกรานต์กรุงเก่าต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยการจราจรที่เป็นการจราจลของผู้ที่ขับรถออกมาเล่นน้ำสงกรานต์กันบนท้องถนนเกือบทุกสายในตัวเมือง แม้กระทั่งตำรวจจราจรก็ยังไม่สามารถอำนวยความสะดวกให้เบาบางได้ เพียงแต่ดูแลไม่ให้เกิดการวิวาทหรืออุบัติเหตุเท่านั้น เมื่อแผนการชมเมืองหลวงในอดีตต้องล้มเลิกไป การหาที่พักในตัวเมืองก็เป็นเรื่องที่ปฏิบัตไม่ได้เช่นกัน ดังนั้น ช่วงสุดท้ายของการเดินทางประมาณ 80 กิโลเมตรในวันนั้นจึงกลับสู่ถนนสายเอเชียอีกครั้งเพื่อใช้บริการที่พักยามค่ำคืน

ผ่านเวลาเที่ยงวันของการเดินทางในวันที่สี่มาได้ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง การเดินทางก็สิ้นสุดลง ณ จุดเริ่มต้น ไม่ใช่ที่สถานีรถไฟกรุงเทพฯ แต่เป็น "บ้าน"...ความคิดที่ว่าจะปั่นจักรยานให้เบื่อไปเลยนั้น กลับทำให้เกิดความคิดที่อยากจะท้าทายและท่องเที่ยวบนหลังอานด้วยเส้นทางอื่น ด้วยเส้นทางที่ยาวขึ้น และใช้เวลานานวันขึ้น

เมื่อไหร่จะได้มีวันหยุดยาว ๆ อย่างนี้อีก จะต้องคอยจนถึงสงกรานต์ปีหน้าหรือเปล่านะ...

No comments:

Post a Comment