คมชัดลึก : กีฬา

Thursday, October 11, 2007

ข้อข้องใจเกี่ยวการการออกกำลังกาย

Myths and Facts About Exercise
สมพัฒน์ จำรัสโรมรัน ที่ปรึกษาด้านการออกกำลังกาย

ในเรื่องของการออกกำลังกาย ยังมีคำถามมากมายที่เป็นข้อสงสัย บางคำถามมีคำตอบที่ชัดเจน แต่บางคำถามอาจมีคำตอบไม่ชัดเจนแค่อาศัยคำพูดต่อๆ กันมา บ้างก็ได้คำตอบเหมือนกัน ขณะที่บางคำถามได้คำตอบแตกต่างกันออกไป แล้วคำตอบไหนที่เราสามารถเชื่อถือหรือนำไปปฏิบัติได้จริงกันเล่า? เพราะถ้าเราได้คำตอบที่ถูกต้องจะทำให้การออกกำลังกายของเราได้ผลตามต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญปลอดภัยและสามารถลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้เป็นอย่างดี ผมจึงเลือกข้อสงสัยที่มักได้ยินบ่อยๆ มาไขข้อข้องใจให้หายสงสัยกันไปได้บ้างนะครับ

Myth : การออกกำลังกายที่ดีที่สุดควรทำในตอนเช้า

Fact : จากการศึกษาพบว่าการออกกำลังกายสามารถทำในช่วงไหนของวันก็ได้ จะได้ผลที่ไม่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับว่าคุณสะดวกและมีช่วงว่างเวลาไหนที่สามารถออกกำลังกายได้ ขอให้มีการออกกำลังกายรวมแล้วอย่างน้อยประมาณ 30 นาทีในแต่ละวันก็สามารถช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ลงได้


Myth : ควรออกกำลังกายแบบแอโรบิคเพื่อลดไขมันก่อน ก่อนที่จะยกเวทเพื่อกระชับกล้ามเนื้อต่อไป

Fact : ผลการวิจัยบ่งชี้ให้เห็นว่า การออกกำลังกายที่เหมาะสมควรประกอบด้วยการยกน้ำหนักร่วมกับการออกกำลังกายแบบแอโรบิคไปพร้อมๆ กัน โดยการยกน้ำหนัก หรือ weight training จะมีผลช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง กระชับได้สัดส่วนที่สวยงาม นอกจากนี้ผลจากการยกน้ำหนักอีกอย่างหนึ่ง คือ เมื่อร่างกายแข็งแรงและมีมวลกล้ามเนื้อเพิ่มมากขึ้นจะยิ่งทำให้มีการเผาผลาญแคลอรีมากขึ้นตามแม้ในขณะพัก ซึ่งสังเกตได้จากคนที่ต้องการออกกำลังกายเพื่อลดไขมันหรือน้ำหนักตัวลงโดยการฝึกแบบแอโรบิคเพียงอย่างเดียว เมื่อหยุดออกกำลังกายไปสักพักน้ำหนักตัวจะกลับขึ้นมาเหมือนเดิม หรือบางคนอาจจะมากกว่าเดิมอย่างรวดเร็ว เมื่อเริ่มออกกำลังกายใหม่น้ำหนักตัวก็จะลง แต่เมื่อหยุดมันก็จะกลับขึ้นมาอีก น้ำหนักขึ้น-ลงสลับกันไปหรือที่เรียกว่า yo-yo effect เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ออกกำลังกายแบบยกน้ำหนักร่วมกับแบบแอโรบิคแล้ว น้ำหนักตัวจะไม่เปลี่ยนแปลงกลับขึ้นมาเหมือนเดิมอย่างรวดเร็ว ซึ่งการออกกำลังกายแบบแอโรบิคจะช่วยในการเผาผลาญพลังงานหรือแคลอรีส่วนเกินออกไปขณะออกกำลังกายเป็นหลัก นอกจากนี้ยังช่วยให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และมะเร็งบางชนิด เป็นต้น


Myth : ผู้หญิงมักกลัวการออกกำลังกายแบบ weight training เพราะทำให้กล้ามเนื้อมีขนาดใหญ่ขึ้นไม่สวยงาม

Fact : ฮอร์โมนเพศมีผลอย่างมากในข้อนี้ครับ โดยผู้ชายมีปริมาณฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (testosterone) มากกว่าผู้หญิง ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการสังเคราะห์โปรตีน เมื่อผู้ชายออกกำลังกายแบบ weight training อย่างหนัก ฮอร์โมนตัวนี้จะทำหน้าที่สังเคราะห์โปรตีนและสร้างกล้ามเนื้อให้มีขนาดใหญ่ขึ้นมา แต่ในผู้หญิงจะมีปริมาณฮอร์โมนนี้ค่อนข้างน้อย โดยจะมีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) มากกว่า ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่แสดงถึงความเป็นผู้หญิง ไม่ได้ทำหน้าที่สังเคราะห์โปรตีนสร้างกล้ามเนื้อแบบเดียวกับฮอร์โมนเพศชาย จากการศึกษาพบว่าผู้หญิงที่มีระดับฮอร์โมนเพศปกติจะต้องออกกำลังกายแบบ weight training อย่างน้อย 4–6 ชั่วโมงต่อวันถึงจะมีขนาดกล้ามเนื้อที่ใหญ่ขึ้นมาเหมือนคนเล่นกล้าม ซึ่งสำหรับคนทั่วไปก็ยากที่จะออกกำลังกายติดต่อกันได้นานถึงขนาดนั้น แต่ข้อดีสำหรับผู้หญิงที่ออกกำลังกายแบบนี้จะช่วยกระชับสัดส่วนรูปร่างให้สวยงาม นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญของร่างกาย (metabolism)ในการควบคุมน้ำหนัก และเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกป้องกันการเกิดภาวะกระดูกพรุนที่ผู้หญิงมีความเสี่ยงสูงครับ


Myth : การออกกำลังกายแบบแอโรบิคเพื่อเผาผลาญไขมันควรใช้เวลามากๆ แต่ใช้ความหนักระดับต่ำๆ จึงจะดี

Fact : การออกกำลังกายแบบแอโรบิคนั้นร่างกายจะใช้พลังงานทั้งจากคาร์โบไฮเดรต (ในรูปของกลูโคสและไกลโคเจนที่สะสมอยู่ในเลือด ตับ และกล้ามเนื้อตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย) และไขมันเป็นหลัก โดยการออกกำลังกายแต่ละครั้งจะใช้พลังงานมากน้อยเพียงใดให้ดูได้จากจำนวนของแคลอรีที่เผาผลาญออกไป ในคนที่ออกกำลังกายเบาๆ แต่นาน เช่น การเดิน 40–45 นาที อาจจะเผาผลาญพลังงานได้ประมาณ 200–350 แคลอรี เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่วิ่ง 30 นาที อาจเผาผลาญพลังงานที่ 250–300 แคลอรี ซึ่งต่างกันเพียงเล็กน้อย ดังนั้นอาจไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายเบาๆ แต่นานๆ เพียงอย่างเดียวในการเผาผลาญพลังงานออกไป เมื่อออกกำลังกายได้สักระยะหนึ่งก็จะมีความฟิตแข็งแรงมากขึ้น ดังนั้นการเพิ่มความหนักหรือระยะเวลาในการออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานมากขึ้นตาม หรือถ้าคนที่ฟิตแข็งแรงดีอยู่แล้วสามารถออกกำลังกายในระดับความหนักที่สูงได้ ก็จะส่งผลให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานหรือแคลอรีโดยรวมมากขึ้น ไขมันที่สะสมอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายก็จะถูกใช้ไปได้เช่นเดียวกัน


Myth : ในการออกกำลังกายแบบ weight training ถ้าต้องการให้กล้ามเนื้อมีขนาดใหญ่ขึ้นให้ยกช้าๆ แต่ถ้าไม่ต้องการให้กล้ามเนื้อมีขนาดใหญ่ควรยกเร็วๆ

Fact : ความจริงแล้วการยกน้ำหนักเพื่อให้กล้ามเนื้อใหญ่ขึ้นหรือกระชับขึ้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเร็วในการยก แต่จะขึ้นอยู่กับน้ำหนักที่เราออกแรงมากกว่า ตามคำแนะนำของ American College of Sports Medicine (ACSM) ซึ่งเป็นสถาบันที่แนะนำรูปแบบต่างๆ ของการออกกำลังกายที่ทั่วโลกยอมรับ ได้กำหนดไว้ว่าถ้าต้องการให้กล้ามเนื้อมีขนาดใหญ่ขึ้นควรใช้น้ำหนักที่สามารถออกแรงยกได้เพียง 1–6 ครั้งในแต่ละเซต หรือประมาณ 80-100% ของน้ำหนักที่สามารถยกได้สูงสุดเพียงหนึ่งครั้ง (1 Repetition Maximum หรือ 1 RM) แต่ถ้าต้องการให้กล้ามเนื้อกระชับแข็งแรงจะต้องใช้น้ำหนักที่สามารถออกแรงยกได้ประมาณ 12-15 ครั้งในแต่ละเซต หรือประมาณ 65–75% ของน้ำหนักสูงสุดที่สามารถออกแรงยกได้ใน 1 ครั้ง และความเร็วในการยกควรจะสอดคล้องกับจังหวะการหายใจเข้า-ออกมากกว่า โดยให้หายใจออกทางปากช้าๆ ขณะออกแรงยก และหายใจเข้าทางจมูกขณะผ่อนแรงหรือปล่อยน้ำหนักลง อย่ากลั้นหายใจขณะที่ออกแรง เพราะจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นและเป็นอันตรายได้


Source : นิตยสาร Health Today

No comments:

Post a Comment