2 เมษายน 2549
เมืองโบราณ
หลังจากปฏิบัติหน้าที่ประชาชนคนไทยเต็มขั้นกันแล้ว ต่างคนต่างก็ฝ่าการจราจรมุ่งหน้าสู่เมืองโบราณครับ เอ..เราจะไปทางไหนดี จะเข้าถนนศรีนครินทร์ก็จะต้องฝ่าฝูงชนที่ไปงานมอเตอร์โชว์กัน ตัดสินใจไปตามทางถนนสุขุมวิทดีกว่า ไม่ได้มาทางนี้ตั้งนานแล้ว มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างน้อ...ที่แน่ ๆ รถยังเยอะเหมือนเดิม แต่ก็ดีกว่าทางศรีนครินทร์ครับ พี่ Otto มาทั้งนั้น ต้องเปลี่ยนทางกลับเลยล่ะครับ ยอมอ้อมไกลดีกว่า แต่ไม่ไปแล้วศรีนครินทร์... สิบเอ็ดโมงกว่า ๆ เสียงพี่มิคกี้แจ้ว ๆ มาตามอากาศ แยม..ถึงไหนแล้ว สำโรงแล้วครับ เออ..งั้นพี่เข้าไปก่อนนะ ได้เลยครับ อีกแป๊บเจอกัน แล้วเราก็ไปถึงในเวลาอีกไม่ช้านาน ตีตั๋วซื้อบัตรผ่าน ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท ถ้าขับรถเข้าไปก็อีกคันละ 50 บาท ถ้าเช่าจักรยานก็คันละ 50 บาท ถ้ามีจักรยานเข้าไปเองก็ 30 บาท ถ้านั่งรถรางรอบเมืองก็ 50 บาท แหม...ก็ต้องจักรยานสิครับ จะให้ใช้พาหนะอื่นได้อย่างไรกัน พี่ Otto โทรมาบอกว่ามาถึงแล้วมากับลูกสาว อีกไม่ถึงอึดใจ..เพราะอึดไม่ไหว พี่โบร่ำ พี่หน่อย และน้องสมาร์ทก็เดินยิ้มแฉ่งมา พ่อยอดชายนายชินจังเป็นไข้ครับ เลยอด ไม่ได้มาเที่ยวด้วยกัน แม๋..เป็นโสดวันเดียวไข้ขึ้นเลยหรือน้อง...มารู้จักเมืองโบราณกันสักกะติ๊ดนะครับ เมืองโบราณ เปรียบดัง บานประตูที่เผยออกให้เห็นถึง มรดกทางศิลปวัฒนธรรม ของสยามประเทศ ซึ่งผู้มาเยือน จะได้เห็นถึง ความสืบเนื่อง ของประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม ศาสนา ความคิด ความเชื่อ ภูมิปัญญาไทย และเข้าใจถึง รากเหง้าแห่งความเป็นไทย รวมทั้ง ความหลากหลายของ ศิลปวัฒนธรรมบนผืนแผ่นดินไทย สร้างขึ้นตาม รูปพรรณสันฐานของ ประเทศไทย และแบ่งออกเป็น ภูมิภาคต่างๆ เพื่อสะดวกในการเข้าชม
หลังจากตีตั๋วเข้าชมกันแล้ว ก็ไปเลือกคู่ขากันครับ เลือกคู่ขากันได้คนละคันแล้วก็เข้าไปข้างใน เสือ Otto รออยู่แล้วพร้อมคู่ขา Trek 4900 ใหม่เอี่ยม และ....น้องลี(โอ)
นึกภาพแผนที่ประเทศไทย จากหน้าประตู ยาว ๆ เข้ามา ก็จะเป็นส่วนของภาคใต้ก่อน ขอแวะเก็บภาพเจดีย์องค์สำคัญทางตอนใต้ของไทยก่อนครับ นี่คือพระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช สร้างขึ้นแต่ครั้งพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงสร้างเมืองนครศรีธรรมราช รูปแบบเจดีย์เป็นแบบศิลปะลังกา คือพระสถูปรูปโอคว่ำตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระพุทธเจ้า นอกจากพระบรมธาตุนี้ ส่วนของภาคใต้ก็ยังมีสิ่งสำคัญอื่น ๆ เช่น พระบรมธาตุไชยา สุราษฎร์ธานี และเทวรูปปัลละ พังงา อีกด้วย
ไปตามทางเรื่อย ๆ ก็จะเข้าสู่ส่วนของภาคกลาง ซึ่งมีโบราณสถานจำลอง รวมถึงภาพจำลองเหตุการณ์สำคัญในสมัยต่าง ๆ มากมาย พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ราชบุรี ส่วนหนึ่งของโบราณสถานของภาคกลาง ซึ่งยังมีอีกมาก ได้แก่ ท้องพระโรงกรุงธนบุรี, เรือนทับขวัญ (เรือนไทยทวารวดี), เรือนขุนแผน (เรือนไทยอยุธยา), พระปรางค์ยอดกลีบมะเฟือง ชัยนาท, ด่านเจดีย์สามองค์ กาญจนบุรี เป็นต้น
จากส่วนของภาคกลางเลี้ยวไปทางซ้ายมือ ก็จะเป็นอาณาบริเวณส่วนรังสรรค์ ถ้านึกภาพแผนที่ประเทศไทย ส่วนนี้ก็จะยื่นออกไปทางทิศตะวันตก หรือเป็นส่วนของประเทศพม่านั่นเอง แต่ส่วนรังสรรค์นี้ ไม่ได้จำลองประเทศพม่านะครับ แต่เป็นภาพสะท้อนของภูมิปัญญาไทย เมืองโบราณได้สร้างสถานที่ซึ่งแสดงให้เห็นถึงระบบความคิด ความเชื่อและภูมิปัญญาในสังคมไทย
ชมภาพ เก็บภาพจากส่วนรังสรรค์กันสักหน่อยครับ...เช่น ศาลารามเกียรติ์ที่ดูแล้วยังข้องใจอยู่ว่า ศาลารามเกียรติ์น่าจะออกแนวภารตะ แต่ไหงออกเป็นแนวเส้าหลิน งง ครับ...หนึ่งในความภาคภูมิใจของไทย ขบวนเสด็จพยุหยาตราทางชลมารค เราจะได้ชมความสง่างามของจริงกันอีกครั้งในปีพิเศษ ปี 2549 นี้ครับ...รูปปั้นภายในศาลา 24 กตัญญู เป็นคุณธรรมที่ชาวจีนนำมาสอนลูกหลาน เช่น ความกตัญญูกตเวทิตา ความซื่อสัตย์สุจริต ความเมตตากรุณา เป็นต้น...เขาพระสุเมรุ ตามความเชื่อในคัมภีร์ไตรภูมิกถาเชื่อว่าเขาพระสุเมรุเป็นหลักของโลกและจักรวาลที่ลอยอยู่เหนือพื้นน้ำ โดยมีปลาอานนท์หนุนอยู่ รอบๆ เขาพระสุเมรุเป็นที่อยู่ของภพและภูมิต่างๆ กันตามแต่ระดับภูมิปัญญาและคุณธรรม บนยอดเขาพระสุเมรุคือ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของนครไตรตรึงษ์ที่มีพระอินทร์เทวราชเป็นผู้ปกครอง ตามความเชื่อในพระพุทธศาสนา ผู้ที่ทำความดีตายไปแล้วจะได้ไปเสวยสุขอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ การสร้างเขาพระสุเมรุขึ้นในเมืองโบราณ เพื่อให้ได้เรียนรู้ถึงภูมิปัญญาเก่าแก่ของคนโบราณและกระตุ้นเตือนให้กระทำแต่ความดี เราจอดพักเพื่อเข้าชมและให้อาหารปลากันครับ
หลังจากให้อาหารปลาแล้ว คนก็เริ่มจะท้องหิวอยากจะได้อาหารกันบ้าง แค่น้ำกับไอศกรีมเอาไม่อยู่ครับ เราออกจากอาณาบริเวณส่วนรังสรรค์กลับไปสู่ภาคกลาง อันเป็นส่วนที่มีตลาดน้ำ และร้านอาหารกัน
ภายในร้านอาหารในโซนตลาดน้ำ จัดแต่งได้บรรยากาศแบบโบราณครับ..นอกจากขายอาหารแล้ว ก็ขายของเล่น ขนมและของตกแต่งแบบไทยและแบบไทยโบราณ...หลังจากเติมพลังกันเรียบร้อย ก็ปั่นกันต่อครับ คราวนี้เราจะไปทางฝั่งขวามือบ้าง ซึ่งเป็นส่วนของภาคเหนือและภาคอีสานครับ เริ่มต้นกันที่ภาคเหนือ วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน เดิมเรียกวัดพรหมมินทร์ครับ ของจริงสร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2319 โน่นแน่ะ
วนมาถึงส่วนของภาคอีสานแล้วครับ เป็นพงศาวดารเรื่อง ผาแดง-นางไอ่ มีเรื่องเล่าว่า ท้าวผาแดงรักอยู่กับนางไอ่ แต่เจ้าชายพญานาคประสงค์อยากจะได้นางไอ่เป็นของตน จึงออกอุบายแปลงกายเป็นกระรอกเผือกออกมาหลอกล่อ ท้าวผาแดงได้ยิงกระรอกตาย แต่ยิ่งแล่เนื้อก็ยิ่งมีเนื้อมากจนต้องแบ่งแจกจ่ายให้ประชาชนได้กินกัน หลังจากอิ่มหนำกันแล้ว ก็เกิดพายุฝนครั้งใหญ่ขึ้น ท้าวผาแดงสงสัยว่าจะไม่ใช่พายุธรรมดา จึงพานางไอ่ขึ้นม้าหนีไป วิญญาณกระรอกเผือกซึ่งก็คือเจ้าชายพญานาคนั่นเอง แปลงร่างกลับเป็นพญานาคและติดตาม ทำให้หนีไม่พ้นครับ ตกลงไปในน้ำซึ่งเกิดจากพายุฝนซึ่งท่วมบ้านเมืองเสียหายไปด้วย ส่วนบ้านใดเมืองใดที่ไม่ได้กินเนื้อกระรอกเผือกก็รอดครับ สงกะสัยว่าพงศาวดารเรื่องนี้อยากจะสอนว่า ให้กินในสิ่งที่ควรกิน ไม่ควรสรรหากินอาหารพิสดารมั้งครับ...ชมปราสาทเขาพระวิหาร หอนางอุษาแล้ว ก็ผ่านมาทางภาคตะวันออกบ้าง ที่นี่ก็เป็นที่พิพาทระหว่างไทย-กัมพูชาเหมือนกันครับ ว่าเป็นของใครกันแน่ ของจริงอยู่ที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ในเขตอำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว พอเล่าประวัติให้ฟังก็มีคนฟันธงทันทีว่าของเค้าแน่นอน ไม่ใช่ของเรา ให้เค้าไปเหอะ ก็ดูชื่อสิ ปราสาทสด๊อกก๊อกธม ของไทยจะชื่อนี้เรอะ สด๊อกก๊อกธม..
วนกลับมาถึงโซนภาคกลางอีกแล้วครับ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท งดงามและโดดเด่น สีทองอร่ามตัดกับท้องฟ้า..ฟ้าใส ผ่านมาถึงวงเวียนพระพุทธรูปทวารวดี ใกล้ทางออกแล้วครับ ฮือ ฮือ..ยังสนุกสนานกับทริปนี้อยู่เลย เสียดายทริปนี้ไม่ได้พาเจ้าสีเงินมาเที่ยวด้วยกัน แต่ปั่นจักรยานเช่าก็ได้รสชาติไปอีกแบบ แบบว่า...ไม่มีเบรคอ่ะครับ ต้องใช้เบรครุ่น New Balance 630 ครับ
สุดท้ายมองพระปรางค์สามยอด ลพบุรีผ่านม่านดอกลีลาวดี ของจริงทรุดโทรมมากครับ น่าเสียดาย ตั้งอยู่กลางเมืองลพบุรีเลย เป็นที่อยู่อาศัยของเหล่าวานร มีรถไฟวิ่งผ่านในระยะใกล้มาก เกรงว่าสักวันจะทรุดลงมาจริง ๆ เข้าซะ น่าจะทำอะไรสักอย่างก่อนที่จะไม่มีของจริงเหลือให้ชม แล้วต้องมาชมของจำลองที่นี่แทน...เราปิดทริปด้วยการให้ผู้ใหญ่(บางคน) ซึ่งคงไม่ต้องถามว่าใครซดน้องลีให้หมดสต๊อกและแยกย้ายกันกลับครับ ขอขอบคุณทุกท่านที่ร่วมทริปกับเรา หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคงจะได้รับความสนุกสนานกันนะครับ จนกว่าได้พบกันใหม่ในทริปหน้า
No comments:
Post a Comment